วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

เอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ

ชัยภูมิ ภูมิใจภูมิหลายล้ำ ภูมิแผ่นน้ำ ภูมิพนา ภูมิผ้าไหม ภูมิแผ่นดิน ภูมิชน คนภูมิใจ ภูมิใจเถิด ภูมิใจ คนชัยภูมิ

คำขวัญเมืองชัยภูมิ

คำขวัญเมืองชัยภูมิ 
"ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวารวดี"










ประวัติเมืองชัยภูมิ

ประวัติ "เมืองชัยภูมิ"

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช เป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น และได้ถูกปล่อยไว้เป็นเมืองร้างเมืองชัยภูมิปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๖๐ นายแลข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์ ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น(หนองอีจาน) อยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอ สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๓๖๒ เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ๖ กิโลเมตร นายแล ได้เก็บส่วย ผ้าขาว ส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น ขุนภักดีชุมพลในปี พ.ศ. ๒๓๖๕ นายแลได้ย้ายชุมชนอีกเนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด เขตอำเภอเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน และได้มาขึ้นตรงต่อ เมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์อีกต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวง เป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้ง ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น พระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองคนแรกของเมืองชัยภูมิ



เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ได้ก่อการกบฏยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพฯ โดยหลอก หัวเมืองต่างๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ จนกระทั้งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อความแตก เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาเพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทร์ เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมาได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองชัยภูมิ พร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์จนแตกพ่ายไป








กองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้ และเกลี้ยกล่อมให้ พระยาภักดีชุมพล(แล)เข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เกิดความแค้นจึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความชื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดินจึงได้พร้อมใจกัน สร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น และชาวชัยภูมิได้สร้างศาลเพิ่มเป็นศาลาทรงไทย ศาลาพระยาภักดีชุมพล(แล)มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไหว้ และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ ๓ กิโลเมตร