ประวัติ "เมืองชัยภูมิ"
สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี “เมืองชัยภูมิ” ปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จ
พระนารายณ์มหาราช เป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมา
แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น
และได้ถูกปล่อยไว้เป็นเมืองร้าง“เมืองชัยภูมิ” ปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยรัชกาลที่
๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๖๐ “นายแล” ข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทร์
ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น(หนองอีจาน)
อยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอ สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๓๖๒
เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม
บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ๖ กิโลเมตร นายแล ได้เก็บส่วย ผ้าขาว
ส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น “ขุนภักดีชุมพล” ในปี
พ.ศ. ๒๓๖๕ นายแลได้ย้ายชุมชนอีกเนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ
มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด
เขตอำเภอเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน และได้มาขึ้นตรงต่อ เมืองนครราชสีมา
และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อ
เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์อีกต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวง
เป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้ง ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น “พระยาภักดีชุมพล” เจ้าเมืองคนแรกของเมืองชัยภูมิ
กองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้
และเกลี้ยกล่อมให้ พระยาภักดีชุมพล(แล)เข้าร่วมเป็นกบฏด้วย
แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์
เกิดความแค้นจึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า
ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความชื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดินจึงได้พร้อมใจกัน
สร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น และชาวชัยภูมิได้สร้างศาลเพิ่มเป็นศาลาทรงไทย “ศาลาพระยาภักดีชุมพล(แล)” มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน
เป็นที่เคารพกราบไหว้ และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ แห่งหนึ่งของจังหวัด
ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ ๓ กิโลเมตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น